วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ภูมิปัญญาชาวบ้านสู่ภูมิปัญญาไทย

ภูมิปัญญาชาวบ้านสู่ภูมิปัญญาไทย
การให้ความหมายภูมิปัญญาชาวบ้านในฐานะกระบวนการดังที่ได้กล่าวแล้วในตอนต้น จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวิเคราะห์ให้เห็นการเติบโตและการพัฒนาของภูมิปัญญาชาวบ้านเข้าสู่ภูมิปัญญาไทย หรือจากระดับชุมชนสู่ระดับชาติ กระบวนการภูมิปัญญา ซึ่งในที่นี้ใช้ในความหมายเดียวกับกระบวนการเรียนรู้ที่ได้เกิดขึ้นแล้วในทุกส่วนของประเทศ กำลังเติบโต และประสานพลังเข้าด้วยกันเพื่อแก้ปัญหาและสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่ผู้คน ชุมชน และสังคมไทย
นับจากปี พ..2504 ซึ่งเป็นปีแรกที่ประเทศไทยได้ประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (..2504-2509) เป็นต้นมา รัฐบาลในขณะนั้นได้พยายามผลักดันนโยบายพัฒนาประเทศให้เข้าสู่ความทันสมัย ขณะที่ประชาชนและชุมชนยังไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง ผู้ใหญ่วิบูลย์  เข็มเฉลิม ได้วิเคราะห์สภาพชุมชนและเกษตรกรในยุคนั้นว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯเกิดขึ้นในภาวะที่ชุมชนและเกษตรกรไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่โง่หรือล้าหลัง แต่ไม่รู้จะเปลี่ยนไปทำไม เพราะขณะนั้นชุมชนมีเศรษฐกิจพอเพียง ทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ และระบบความสัมพันธ์แบบแบ่งปันทำให้คนในยุคนั้นมีชีวิตไม่เดือดร้อน   ผู้ใหญ่วิบูลย์  เข็มเฉลิมย้ำว่า คนในภาคเกษตรไม่พร้อม ผมเองก็ไม่พร้อม ไม่สามารถรองรับวิถีชีวิตจากนโยบาย แต่ต้องทำตามสั่งเรื่อยมา อาศัยเทคโนโลยีในการแก้ปัญหา เขาฝึกให้รู้จักขอ สุดท้ายใช้วิธีประท้วง อย่างไรก็ตาม ผลจากการใช้นโยบายของรัฐ ทำให้เกษตรกรและชุมชนต้องรับสิ่งใหม่ๆที่เข้ามาอย่างรวดเร็ว ระยะเวลาเพียงไม่กี่สิบปีหลังจากนั้นระบบการผลิต ความสัมพันธ์ และคุณค่าต่างๆ รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนได้ถูกทำลายลงจนยากที่จะฟื้นฟูให้ได้ดังเดิม
ในช่วง 20 กว่าปีมานี้ เกษตรกรและชุมชนได้ปรับตัวครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เมื่อพบว่าความสัมพันธ์ใหม่กับภายนอกทำให้ตนเสียเปรียบ การเรียนรู้ใหม่ทำให้เกิดการรวมกลุ่มสร้างองค์กรชุมชนหรือองค์กรชาวบ้านเพื่อจัดความสัมพันธ์ใหม่กับภายนอก จัดการทรัพยากรใหม่ และสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ที่จะทำให้ชุมชนอยู่รอดและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมชุมชน
กระบวนการภูมิปัญญาชาวบ้าน  เป็นกระบวนการเรียนรู้แบบลองถูกลองผิด หรือทำไปเรียนไป ซึ่งเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในชุมชนจำนวนมาก หัวใจของการเรียนรู้แบบนี้อยู่ที่การปฏิบัติ โดยเฉพาะชุมชนที่ได้พัฒนาการเรียนรู้มาแล้วระดับหนึ่ง และมองไม่เห็นทางออกภายใต้ระบบเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมวัฒนธรรมในขณะนั้น ชุมชนต้องการสิ่งใหม่หรือทางเลือกใหม่  ต้องการความรู้ใหม่ เมื่อไม่มีหน่วยงานหรือองค์ใดตอบสนองได้ชุมชนจึงต้องสร้างกิจกรรม เรียนรู้จากกิจกรรม และสรุปประสบการณ์ออกมาเป็นความรู้ใหม่ ระบบการจัดการใหม่ที่จะช่วยให้ชุมชนหลุดพ้นจากการครอบงำของระบบเก่า
ชุมชนไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งได้เรียนรู้ระบบการผลิตและการจัดการยางพาราใหม่ผ่านประสบการณ์ของกลุ่มเกษตรกรทำสวนไม้เรียง จนไม้เรียงกลายเป็นต้นแบบของอุตสาหกรรมชุมชน เป็นโรงเรียนให้กลุ่มเกษตรกรและชุมชนชาวสวนยางทั่วประเทศได้เรียนรู้และฝึกฝน  ที่สำคัญประสบการณ์ชุดนี้ได้กลายเป็นนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนายางพาราของรัฐบาลในขณะนั้น ส่งผลให้เกิดโรงงานแปรรูปยางพารากระจายไปทุกจังหวัดที่ปลูกยาง ดังรายละเอียดที่กล่าวแล้วในกรณีศึกษาข้างต้น
ความสำเร็จและประสบการณ์เกี่ยวกับยางพาราในช่วงที่ผ่านมา ชุมชนไม้เรียงค่อนข้างมั่นใจว่าสามารถรับมือหรือจัดการกับปัญหาต่างๆที่จะเกิดขึ้นกับยางพาราได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม นับจากการก่อตั้งโรงงานแปรรูปยางพาราครั้งแรกเมื่อปี พ..2527 จนถึงปี พ..2537 เป็นเวลา 10 ปีที่การดำเนินงานอุตสาหกรรมชุมชนของไม้เรียงเป็นไปอย่างราบรื่น เต็มไปด้วยความหวัง และอนาคตที่สดใสรออยู่เบื้องหน้า แต่ในปี พ..2537 เป็นต้นมา ราคายางพาราเริ่มตกต่ำ ผันผวน จนเรียกได้ว่าขาดเสถียรภาพ อันเป็นผลมาจากภาวะตลาดโลกและระบบการจัดการภายในประเทศ ส่งผลให้การดำเนินงานของโรงงานแปรรูปยางพาราต้องประสบปัญหาตลอดมา จนกระทั่งเศรษฐกิจของประเทศต้องประสบกับภาวะวิกฤต
ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในครึ่งหลังของปี พ..2540 ส่งผลให้ชุมชนต้องปรับการเรียนรู้ใหม่ เพราะบทเรียนที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้แสดงให้เห็นว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ชุมชนไม่อาจควบคุมได้ กระแสโลกาภิวัฒน์ทำให้ประเทศต้องเปิดเสรีทางการค้าและการเงิน ซึ่งเป็นกระบวนการต่อเนื่องจากการเปิดเสรีทางการลงทุนที่ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ จะมีส่วนอย่างมากต่อการคงอยู่หรือล่มสลายของชุมชนในอนาคต การเรียนรู้จึงพัฒนาขึ้นอีกก้าวหนึ่งเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป นั่นคือการเรียนรู้เพื่อเท่าทันโลกภายนอก
กรณีชุมชนไม้เรียง บทเรียนที่ได้รับจากสถานการณ์ยางพาราในช่วงที่เพิ่งผ่านมาก็คือ ข้อสรุปที่ว่าชุมชนไม่สามารถพึ่งพายางพาราเพียงอย่างเดียว ส่วนทางออกจะเป็นอย่างไรนั้น คำตอบอยู่ที่กระบวนการภูมิปัญญาหรือกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน
ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนไม้เรียง  เป็นองค์กรชุมชนของตำบลไม้เรียง ตั้งขึ้นเพื่อศึกษาและวางแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนนี้ ศูนย์แห่งนี้เริ่มต้นจากการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ผู้นำชุมชนจากหมู่บ้านต่างๆจำนวน 8 หมู่บ้านในตำบลของตน หมู่บ้านละ 5 คน รวม 40 คน โดยกำหนดให้มีเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนรู้ระหว่างผู้นำชุมชนเหล่านี้อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ต่อมาเวทีนี้ได้พัฒนาขึ้นเป็นสภาผู้นำชุมชนไม้เรียงในราวปี พ..2535 การพบปะกันในแต่ละครั้ง ผู้นำชุมชนจากหมู่บ้านต่างๆจะนำเอาสิ่งที่ตนเองเห็นว่าเป็นปัญหามาพูดคุยกัน นานเข้าการพูดคุยแบบนี้ก็ถึงทางตัน เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาหรือหาทางออกได้ เพราะไม่มีใครมีข้อมูลมากพอที่จะวิเคราะห์ลงไปในรายละเอียดของปัญหา
            ปัญหาหนึ่งที่สมาชิกของสภาแห่งนี้มักจะหยิบยกมาพูดคุยเป็นประจำ คือชาวบ้านตำบลไม้เรียงมีหนี้สินมาก ซึ่งทุกคนเห็นด้วย แต่เมื่อถามว่าเป็นหนี้มากเท่าไร ก็ไม่มีใครตอบได้ นี่คือที่มาของการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ของสภาผู้นำชุมชนไม้เรียงในเวลาต่อมา โดยให้ผู้นำชุมชนจากหมู่บ้านต่างๆสำรวจและเก็บข้อมูลหนี้สินของชาวบ้าน และนำข้อมูลที่ได้กลับมาพูดคุยกันในการพบปะกันครั้งต่อไป
            การปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ จากการพูดคุย บอกเล่าประสบการณ์มาสู่การเรียนรู้บนฐานข้อมูล ได้ช่วยให้ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนไม้เรียงมองเห็นแนวทางในการวางแผนพัฒนาเพื่อให้ชุมชนของตนหลุดพ้นจากการพึ่งพายางพาราเพียงอย่างเดียว
            กระบวนการเรียนรู้ที่อยู่บนฐานข้อมูล ข้อเท็จจริง และนำสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ไปวางแผนพัฒนาและแก้ปัญหาเพื่อให้ชุมชนของตนหลุดพ้นจากการพึ่งพานอกที่ชุมชนไม้เรียงเป็นผู้ริเริ่มและพัฒนาขึ้นนี้ รู้จักกันต่อมาว่า แผนแม่บทชุมชน และกลายเป็นประเด็นหลักของการวางแผนพัฒนาชุมชนในระดับชาติในทุกวันนี้  หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ด้านการวางแผนและพัฒนา โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ถือเอาการทำแผนแม่บทชุมชน หรือที่หน่วยงานนี้เรียกว่าแผนชุมชน เป็นภารกิจเร่งด่วนที่ทุกตำบลต้องทำให้เสร็จภายใน 3 ปี แผนแม่บทชุมชน ซึ่งเป็นผลผลิตของกระบวนการภูมิปัญญาชาวบ้านหรือกระบวนการเรียนรู้ที่เริ่มต้นจากชุมชน และพัฒนาขึ้นเป็นกลไกระดับชาติและเป็นความหวังที่จะใช้กลไกตัวนี้เป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาเศรษฐกิจรากหญ้าในสังคมไทย
            ชุมชนไม้เรียงได้ให้ความสำคัญต่อการทำแผนแม่บทชุมชนในฐานะกระบวนการเรียนรู้ที่เป้าหมายให้ชุมชนหลุดพ้นจากวิธีคิดแบบพึ่งพารัฐ หรือรอคอยความช่วยเหลือจากภายนอกเพียงอย่างเดียว การที่จะบรรลุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่วางไว้นี้ ชุมชนจึงต้องเรียนรู้เรื่องราวต่างๆของตนเพื่อรู้จักตัวเอง นับตั้งแต่ประวัติความเป็นมา ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ผลผลิต รายได้ รายจ่าย หนี้สิน ทรัพย์สิน ความรู้ ตลอดจนปัญหาและสาเหตุของปัญหาในชุมชน การเรียนรู้สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนต้องการข้อมูลและข้อเท็จจริง ที่สมาชิกทุกคนต้องช่วยกันเก็บ ช่วยกันวิเคราะห์สังเคราะห์จนเข้าใจและมองเห็นสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาและทางแก้
            นอกจากการเรียนรู้เพื่อรู้จักตัวเองแล้ว ชุมชนยังต้องเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งหมายถึงบริบทที่อยู่นอกชุมชนของตน โดยเฉพาะการเรียนรู้วิธีคิด วิธีปฏิบัติ และวิธีให้คุณค่าของชุมชนที่เป็นแบบอย่างที่ดี หรือชุมชนต้นแบบ เป้าหมายของการเรียนรู้นี้อยู่ที่การมองเห็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงของสังคมชุมชนและสังคมโลก การเรียนรู้วิธีคิด วิธีปฏิบัติ และวิธีให้คุณค่าจะช่วยให้ชุมชนหลุดพ้นจากการวางแผนพัฒนาแบบลอกเลียน เห็นชุมชนอื่นพัฒนาก็อยากพัฒนาบ้างโดยไม่เข้าใจแก่นแท้หรือความจริงของการพัฒนา
            การรู้จักตัวเองและรู้จักโลก ช่วยให้ชุมชนมองเห็นตัวเองในปัจจุบัน และเห็นโลกในอนาคต การประมวลความรู้ในสองส่วนนี้เข้าด้วยกัน จะช่วยให้ชุมชนกำหนดได้ว่าทิศทางของตนควรจะไปในทางใดจึงจะอยู่รอด มั่นคง และมีศักดิ์ศรีของความเป็นคน แผนแม่บทชุมชนก็คือ ทิศทางที่ชุมชนกำหนดขึ้นนี้ หลังจากนั้นการจัดทำแผนงานและโครงการต่างๆเพื่อให้ชุมชนเดินไปในทิศทางที่ต้องการก็จะตามมา และถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทชุมชน
            ดังได้กล่าวแล้วในตอนต้นว่า แผนแม่บทชุมชนเป็นผลผลิตของกระบวนการภูมิปัญญาชาวบ้านหรือกระบวนการเรียนรู้ ด้วยเหตุนี้การจัดทำแผนแม่บทชุมชนชนจึงต้องให้ความสำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้และบริหารกระบวนการให้มีประสิทธิภาพ ประสบการณ์ในเรื่องนี้ของชุมชนไม้เรียงช่วยให้สรุปได้ว่า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้บนฐานข้อมูลข้อเท็จจริงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดตอน การบริหารจัดการข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลต้องสอดคล้องกับกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพจะทำให้ได้ข้อมูลถูกต้องตามความเป็นจริง เหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการภูมิปัญญาชาวบ้านในการจัดทำแผนแม่บทชุมชน
            ความสำเร็จของตำบลไม้เรียงในการจัดทำแผนแม่บทชุมชน การวิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้จากข้อมูลและข้อเท็จจริงนำไปสู่การเสนอแนวคิดวิสาหกิจชุมชน ซึ่งหมายถึงการประกอบการที่ตั้งอยู่บนฐานทุน ความรู้ ทรัพยากรธรรมชาติ และผลผลิตของชุมชนอย่างสร้างสรรค์ เป็นระบบ ครบวงจร และแนวคิดนี้เองที่ส่งผลให้ชุมชนไม้เรียงได้นำเอาปัจจัยดังกล่าวข้างต้นมาสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีเป้าหมายเพื่อกินเพื่อใช้ในชุมชนเป็นอันดับแรก ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าสินค้าจากภายนอก และลดการไหลออกของเงิน จนชุมชนไม้เรียงก้าวเข้าสู่  8 ชุมชน 8 ผลิตภัณฑ์
            นอกจากการนำเสนอแนวคิดเรื่องแผนแม่บทชุมชนแล้ว แนวคิดเรื่องวิสาหกิจชุมชนส่วนใหญ่ก็ได้รับการพัฒนาที่ชุมชนไม้เรียง จนกระทั่งสามารถพิสูจน์ได้ว่าวิสาหกิจชุมชนเป็นการประกอบการที่มีปรัชญา แนวคิด และการจัดการหรือความสัมพันธ์แบบหนึ่งที่ต่างไปจากเศรษฐกิจกระแสหลักหรือทุนนิยม ต่างจากวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม หรือ SMEs ซึ่งเป็นการย่อส่วนทุนนิยมเข้าสู่ชุมชน ไม่มีเอกลักษณ์หรือชุดความรู้ของตนเองที่จะพิสูจน์ให้เห็นความต่างจากเศรษฐกิจกระแสหลักนอกจากขนาดที่ไม่เท่ากันกัน
            ถึงวันนี้ วิสาหกิจชุมชนไม่เพียงจะเป็นนโยบายของรัฐบาลในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจและสังคมชุมชนเท่านั้น แต่แนวคิดเหล่านี้ได้กลายเป็นร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.………. ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และผ่านการพิจารณาในวาระที่ 1 ของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว
            ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นศักยภาพของภูมิปัญญาชาวบ้าน ถ้าได้รับการส่งเสริมและพัฒนาให้ถูกทางก็จะแสดงพลังออกมาแก้ปัญหาให้ชุมชนและสังคมได้ในที่สุด

9        บทบาทของภูมิปัญญาชาวบ้านกับการพัฒนาชุมชนและสังคมไทย
9.1  ภูมิปัญญาชาวบ้านกับการพัฒนาชุมชน  ในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมานี้ ภูมิปัญญาชาวบ้านได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อการพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะชุมชนชนบท ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากจากการพัฒนาประเทศในช่วงที่ผ่านมา สามารถสรุปได้ดังนี้
1) ภูมิปัญญาชาวบ้านก่อให้เกิดการประยุกต์วัฒนธรรมชุมชนเพื่อการพัฒนาชนบท จุดเด่นอย่างหนึ่งของภูมิปัญญาชาวบ้านคือ การให้ความสำคัญต่อคุณค่าซึ่งเป็นนามธรรม ไม่ยึดติดกับรูปแบบ ส่งผลให้ภูมิปัญญาชาวบ้านมีความยืดหยุ่นสูง สามารถปรับตัวได้ตามสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ผู้คนและชุมชนในชนบทจึงได้นำจุดเด่นนี้มาประยุกต์วัฒนธรรมชุมชน โดยเฉพาะการประยุกต์ประเพณี-พิธีกรรมต่างๆ เช่น การสืบชะตาแม่น้ำ การบวชป่า และผ้าป่าพันธุ์ไม้  เป็นต้น การประยุกต์ประเพณี-พิธีกรรมเหล่านี้ช่วยให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนค่อยๆฟื้นตัวขึ้น และก่อให้เกิดความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างคนกับธรรมชาติ เป็นความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกัน ไม่ใช่การควบคุมหรือเอาชนะธรรมชาติอย่างที่ผ่านมา
2)  ภูมิปัญญาชาวบ้านก่อให้เกิดกลไกใหม่ทางสังคมวัฒนธรรม แม้ว่าการพัฒนาประเทศในช่วงที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดความเจริญทางวัตถุมากมาย ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น แต่อีกด้านของความก้าวหน้านี้กลับส่งผลให้ผู้คนและชุมชนถูกตัดออกจากกัน
สังคมชุมชนในปัจจุบัน ความสัมพันธ์ทางเครือญาติ และการพึ่งพาอาศัยกันอย่างในอดีต หรือการช่วยเหลือกันโดยตรงแบบให้พี่ปันน้อง ซึ่งเป็นกลไกทางสังคมวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมได้คลายพลังลงไปมากแล้ว ชุมชนจึงได้สร้าง กลุ่มหรือองค์กรชุมชน ซึ่งเป็นกลไกใหม่ที่ช่วยให้คนในชุมชนหันกลับมาพึ่งพาอาศัยกันอีกครั้งหนึ่ง
กลุ่มออมทรัพย์ ธนาคารหมู่บ้าน และองค์กรการเงินชุมชนที่เรียกชื่ออื่น เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นลักษณะที่กล่าวข้างต้นได้เป็นอย่างดี องค์กรการเงินเหล่านี้จะเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ชุมชนประสบกับปัญหาเงินทุนและภาวะหนี้สิน ชาวบ้านในชุมชนจะไม่มีทางออกในเรื่องนี้ ไม่สามารถหยิบยืมเงินทองจากญาติพี่น้อง เพราะทุกคนต่างตกอยู่ในภาวะเดียวกัน การรวมตัวเป็นกลุ่มออมทรัพย์ ธนาคารชุมชน และองค์กรการเงินในชื่ออื่นก็จะเกิดขึ้น สมาชิกของกลุ่มนำเงินคนละเล็กคนละน้อยมาฝากไว้ร่วมกัน กลุ่มจะทำหน้าที่จัดการเงินหรือทรัพยากรดังกล่าว ให้สมาชิกที่มีความจำเป็นเร่งด่วนได้กู้ยืมนำไปแก้ปัญหาที่เผชิญในขณะนั้น  กลุ่มหรือองค์กรการเงินเหล่านี้จึงมีฐานะเป็นกลไกใหม่ทางสังคมวัฒนธรรมที่ช่วยให้คุณค่าเดิมของสังคมชุมชน คือการพึ่งพาอาศัยกันได้กลับมามีบทบาทในสังคมปัจจุบัน และยังช่วยให้ญาติพี่น้องในชุมชนได้หันมาใกล้ชิดกันอีกครั้งหนึ่ง
นอกจากตัวอย่างข้างต้นแล้ว ยังมีกลุ่มและองค์กรชาวบ้านหรือองค์กรชุมชนอีกจำนวนมากที่เกิดขึ้นและได้รับการพัฒนาโดยกระบวนการภูมิปัญญาชาวบ้าน เช่น ธนาคารข้าว ธนาคารโค-กระบือ และกลุ่มแลกเปลี่ยนแรงงาน เป็นต้น เหล่านี้ต่างทำหน้าที่เช่นเดียวกับองค์กรการเงินที่กล่าวข้างต้น
การพึ่งพาอาศัยกันผ่านองค์กรจัดการใหม่ไม่ได้จำกัดเฉพาะในชุมชนเท่านั้น แต่ความสัมพันธ์เชิงแลกเปลี่ยนและพึ่งพานี้ได้พัฒนาเป็น เครือข่ายองค์กรชุมชน ช่วยผู้คนต่างหมู่บ้าน ต่างเขตการปกครองที่มีความสนใจร่วมกันได้พึ่งพาอาศัยกัน
กลุ่มหรือองค์กรชุมชนและเครือข่าย นับเป็นกลไกใหม่ทางสังคมวัฒนธรรมที่เป็นทั้งผลผลิตและกระบวนการของภูมิปัญญาชาวบ้าน และเป็นกลไกที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คนและชุมชนในปัจจุบัน
3) ภูมิปัญญาชาวบ้านก่อให้เกิดการสร้างสรรค์สถาบันของชุมชน  พัฒนาการของภูมิปัญญาชาวบ้านในช่วง 20 กว่าปีมานี้ ได้ส่งผลต่อการสร้างสรรค์สถาบันใหม่ของชุมชน ที่สำคัญมีดังนี้
สถาบันการเรียนรู้ ในช่วงที่ชุมชนต้องเผชิญกับปัญหาการพัฒนาและหมดหนทางแก้ไข ชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตาได้พยายามแสวงหาทางออก โดยการรวมตัวเพื่อการเรียนรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ระหว่างกัน เกิดเครือข่ายการเรียนรู้ขึ้นในชุมชนต่างๆ บางชุมชนสามารถรักษาและพัฒนาความสัมพันธ์นี้ให้ต่อเนื่องและมั่นคงจนมีภาวะเป็นสถาบัน
ผลการศึกษาชุมชนทั่วทุกภาคของประเทศพบว่า สถาบันการเรียนรู้ของชุมชน ซึ่งอาจเรียกชื่อต่างกัน เช่น มหาวิทยาลัยชาวบ้าน มหาวิทยาลัยธรรมชาติ ศูนย์ศึกษาและพัฒนา สมาคม ชมรม และเครือข่าย เป็นต้น ต่างนำลักษณะทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนมาเป็นแนวทาง การเรียนรู้จึงเป็นธรรมชาติ ง่าย และตรงต่อความต้องการของชาวบ้าน โดยมีผู้นำ ผู้รู้หรือปราชญ์ชาวบ้านทำหน้าที่ถ่ายทอดแนวคิด ความรู้ หรือชุดประสบการณ์ให้แก่ผู้สนใจนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต
ความรู้หรือชุดประสบการณ์ของชุมชนไม่ใช่ความรู้ทางเทคนิคเพียงอย่างเดียว แต่จะประกอบด้วยส่วนที่เป็นคุณค่า ศีลธรรม และจริยธรรม หรือเป็นความรู้แบบองค์รวม และการถ่ายทอดก็มิได้แยกออกเป็นส่วน ผู้เรียนจึงต้องเรียนรู้วิถีชีวิตทั้งหมดจากเจ้าของประสบการณ์ หัวใจของการเรียนรู้นี้อยู่ที่การปฏิบัติ จึงเกิดการหนุนช่วยและการไปมาหาสู่กันระหว่างผู้ถ่ายทอดความรู้และผู้เรียน
            สถาบันทุนของชุมชน ทุนเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตและการผลิตของชุมชน ทั้งนี้เพราะทุนในความหมายของชุมชนนั้นค่อนข้างกว้าง ประกอบด้วย ทุนเงินตรา ทุนสังคมวัฒนธรรม ทุนทรัพยากรธรรมชาติ และทุนโภคทรัพย์ ชุมชนต่างๆได้ใช้ภูมิปัญญาจัดการทุนเหล่านี้ให้รับใช้และสร้างความมั่นคงในชีวิต เห็นได้จากชุมชนจำนวนมากใช้ภูมิปัญญาที่มีอยู่พัฒนาสถาบันทุนของชุมชนในรูปแบบต่างๆ เช่น กองทุนวัว ธนาคารข้าว  กองทุนพืชพื้นบ้าน และกลุ่มออมทรัพย์ เป็นต้น
พัฒนาการของสถาบันทุนของชุมชน เกิดขึ้นควบคู่กับกระบวนการเรียนรู้และสถาบันการเรียนรู้ของชุมชน มีความหลาหลาย รูปแบบการบริหารจัดการสถาบันทุนของชุมชนในแต่ละแห่งจะมีความสัมพันธ์กับพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรมของตน ทำให้มีความยืดหยุ่นสูง และตอบสนองความต้องการของชุมชนได้มากกว่าสถาบันทางเศรษฐกิจจากภายนอก
4) ภูมิปัญญาชาวบ้านก่อให้เกิดความเป็นปึกแผ่นของสังคมชุมชน   การพัฒนาประเทศตามแนวคิดเดิมได้ก่อให้เกิดความแตกแยกขึ้นในชุมชน ยิ่งความเจริญทางด้านวัตถุมีมากเท่าใด ผู้คนก็จะถูกตัดขาดจากกันทางสังคมมากเท่านั้น การปรากฏตัวของภูมิปัญญาชาวบ้านได้ฉุดดึงให้ผู้คนที่แยกจากกันนี้ให้หันหน้าเข้าหากันอีกครั้งหนึ่ง
เห็นได้ว่าบทบาทของภูมิปัญญาชาวบ้านทั้งในด้านการประยุกต์วัฒนธรรมชุมชนเพื่อการพัฒนา การสร้างกลไกลใหม่ทางสังคมวัฒนธรรม และการสร้างสรรค์สถาบันของชุมชนดังที่ได้กล่าวข้างต้น ต่างมีส่วนอย่างมากต่อการสร้างเป็นปึกแผ่นให้สังคมชุมชน กระทั่งในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่เพิ่งผ่านมา ประชาชนจำนวนมากที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจในภาคเมืองต่างคืนสู่ชนบทหรือภาคเกษตร ซึ่งชุมชนได้พิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถรองรับคนเหล่านี้ไว้ได้ ปัญหาทางสังคมที่เป็นผลมาจากวิกตเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในสังคมไทยจึงไม่รุนแรง เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศทางอเมริการใต้หรือละตินอเมริการที่ประสบปัญหาเดียวกันไทย
            5)  ภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นรากฐานทางการผลิต และเสริมสร้างเศรษฐกิจของชุมชนและสังคมไทย  ภูมิปัญญาชาวบ้านในฐานะความรู้หรือเทคโนโลยีในด้านต่างๆ ทั้งการเกษตร การแปรรูป การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดการทุน และการตลาด และภูมิปัญญาชาวบ้านในฐานะกระบวนการหรือการเรียนรู้ ล้วนเป็นพื้นฐานการผลิต เสริมสร้างรายได้ และการมีงานทำของคนในชุมชน
วิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของเศรษฐกิจชุมชนที่ชุมชนได้ช่วยกันพัฒนาขึ้น จะมีบทบาทสำคัญในด้านการผลิตสินค้าทดแทนการซื้อหาจากภายนอกการเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิต และทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการบริการต่างๆในชุมชน เป้าหมายอยู่ที่การพึ่งตนเองของครอบครัว ความพอเพียงของชุมชน และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพออกสู่ภายนอก
หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP ที่กำลังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในขณะนี้ เกือบทั้งหมดพัฒนาขึ้นจากฐานภูมิปัญญาชาวบ้าน และได้รับการพิสูจน์ว่ามีศักยภาพสูงในทางเศรษฐกิจ สามารถทำรายได้ให้แก่ประเทศเกือบแสนล้านบาทต่อปี
ในระยะยาว การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนจะช่วยให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างวิสาหกิจชุมชนและหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์มากขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพของวิสาหกิจชุมชนจะได้รับการพัฒนาเป็นหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ออกสู่การแข่งขันในระดับสูงขึ้น การแข่งขันในลักษณะนี้จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชาวบ้านและชุมชน เพราะเป็นการแข่งขันบนศักยภาพหรือในจุดที่สามารถแข่งขันได้ ในทางตรงข้ามการแข่งขันในลักษณะนี้จะก่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของชุมชนและสังคมไทยออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

























เรื่องพระราชพิธี ๑๒ เดือน

เรื่องพระราชพิธี ๑๒ เดือน
พระราชพิธีซึ่งมีสำหรับพระนคร ที่ได้เคยประพฤติมาแต่ก่อนถึงปัจจุบันนี้ อาศัยที่มาเป็น 2 อย่าง อย่างหนึ่งมาตามตำราไสยศาสตร์ที่นับถือพระเป็นเจ้า อิศรว นารายณ์ อย่างหนึ่งมาตามพระพุทธศาสนา แต่พิธีที่มาจากต้นเหตุทั้งสองอย่างนี้ มาคละระคนกันเป็นพิธีอย่างหนึ่งขึ้นก็มี ด้วยอาศัยเหตุที่แต่เดิมพระเจ้าแผ่นดินและชาวพระนครถือศาสนาพราหมณ์ การใดๆ ซึ่งนับว่าเป็นศรีสวัสดิมงคลแก่พระคนรตามคัมภีร์ไสยศาสตร์ก็ประพฟติเป็นราชประเพณีสำหรับพระนครตามแบบอย่างนั้น ครั้นเมื่อภายหลังพระเจ้าแผ่นดินและราษฎรนับถือพระพุทธศาสนา ถึงว่าพระพุทธศาสนาที่เป็นต้น เดิมแท้ไม่มีฤกษ์ภาพิธีรีตองอันใด ด้วยพระพุทธเจ้าย่อมตรัสว่าฤกษ์ดี ยามดี ครู่ดี ขณะดี การบูชาเซ่นสรวงดี ทั้งปวงย่อมอาศัยความสุจริตในไตรทวาร ถึงแม้ว่าการซึ่งจะเป็นมงคลและเป็นอวมงคลก็ดี ก็อาศัยที่ชนทั้งปวงประพฤติการสุจริตทุจริตเป็นที่ตั้ง เพราะฉะนั้น การพระราชพิธีใดๆ ซึ่งเกี่ยวข้องเจือปนในอยู่ในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีคำอ้างมาว่าตามทางพุทธศาสนานับเอาเป็นคู่ไสยศาสตร์นั้น จะอ้างว่าพระพุทธเจ้าบัญญัติหรือแนะนำไว้ให้ทำนั้นไม่ได้ มีอย่างเดียวแต่การพระราพิธีทั้งปวง บางอย่างต้องกับคำที่พระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญ บางอย่างต้องกับคำที่พระพุทธเจ้าตรัสติเตียนเมื่อว่าโดยย่อแล้ว การอันใดที่เป็นสุจริตในไตรทวาร พระพุทธเจ้าก็ตรัสสรรเสริญ การสิ่งนั้นว่าเป็นดี การสิ่งใดที่เป็นทุจริตก็ย่อมทรงติเตียนว่าการสิ่งนั้นเป็นการชั่ว เพราะฉะนั้นการพระราชพิธีที่อ้างว่าตามพระพุทธศาสน์นั้นควรจะต้องเข้าใจว่า เป็นแต่อย่างประพฤติของผู้ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาได้ประพฤติมาแต่ก่อน การที่ประพฤตินั้นไม่เป็นการมีโทษที่พระพุทธเจ้าจะพึงติเตียน การพระราชพิธีเช่นนี้นับว่าเป็นการมาตามทางพุทธศาสน์
            แต่ส่วนพระราชพิธีซึ่งคละปะปนทั้งพุทธศาสน์และไสยศาสตร์นั้น ก็เกิดขึ้นด้วยเดิมทีพระเจ้าแผ่นดินและราษฎรนับถือศาสนาพราหมณ์ดังว่ามาแล้ว ครั้นเมื่อได้รับพระพุทธศาสนามาถือ พระพุทธศาสนาไม่สู้เป็น
ปฏิปักษ์คัดค้านกันกับศาสนาอื่น ๆ เหมือนศาสนาพระเยซูหรือศาสนามะหะหมัด พระพุทธเจ้ามีพิธีประสงค์อย่างเดียว แต่ที่จะแสดงเหตุที่เป็นจริงอยู่อย่างไร และทางที่จะระงับดับทุกข์ได้ด้วยอย่างไร ตามซึ่งพระองค์ตรัสรู้ด้วยพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ พระองค์ไม่พยากรณ์กล่าวแก้ในถ้อยคำความเห็นของชนทั้งปวงที่กล่าวแก่งแย่งงกันอยู่ต่างๆ ด้วยเห็นไม่เป็นประโยชน์อันใดซึ่งสมควรจะนับถือลัทธิไสยศาสตร์ แต่ผู้ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาในชั้นหลังซึ่งยังไม่ได้บรรลุมรรคผล ย่อมมีความหวาดหวั่นสะดุ้งสะเทือนด้วยภัยอันตรายต่างๆ และมีความปรารถนาต่อความเจริญรุ่งเรืองแรงกล้า เมื่อได้เคยประพฤตินับถือกลัวเกรงพระเป็นเจ้าและเทพยดา ซึ่งว่ามีฤทธิ์อำนาจอาจจะลงโทษแก่ตนและผู้อื่นได้ในเหตุซึ่งมิใช่เป็นความยุติธรรมแท้ คือบันดาลให้เกิดไข้เจ็บต่างๆ โดยความโกรธความเกลียดว่าไม่เคารพนบนอบบูชาตน หรืออยู่ดีๆ สบใจร้ายขึ้นมาก็ทำพิษสงให้คนทั้งปวงลำบากด้วยความเจ็บไข้กันดารด้วยเสบียงอาหารเป้นต้น จึงได้คิดทำการบุชาเซ่นสรวงให้เป็นเครื่องป้องกันความผิด อันผู้มีอำนาจมีใจเช่นนั้นจะถือว่าเป็นการหมิ่นประมาทไม่เคารพนบนอบ หรือประจบประแจงไว้จะได้สบายๆ ใจไม่มีร้ายขึ้นมา ความเชื่อถือมั่นหมายในการอย่างนี้มีฝังอยู่ในใจคนทั้งปวงสืบลูกหลานสิบชั่วคน และอาศัยเหตุผลซึ่งเป็นการเผอิญเป็นไปเฉพาะถูกคราวเข้ามีอยู่เนื่องๆ เป็นเครื่องประกอบให้คิดเห็นว่าเป็นเพราะผีสางเจ้านายกริ้วโกรธเช่นกล่าวมาแล้ว จึงทำให้ความหวาดหวั่นกลังเกรงนั้นไม่ขาดสูญไปได้ เมื่อมีความกลัวอันตรายอยู่ดังนี้แล้ว ส่วนความปรารถนาจะยากดีอยากสบายนั้นแรงกล้า ก็ชักพาให้หันเข้าหาควาอ้อนวอนของร้องเซ่นสรวงบูชาให้ช่วยแรงเข้าอีกตามความปรารถนาอันแรงกล้า ด้วยเหตุดังนี้แล ถึงแม้ว่าคนไทยถือพระพุทธศาสนาก็ยังหาอาจที่จะละทิ้งการบูชาเซ่นสรวงไปได้ไม่ การพระราชพิธีตามไสยศาสตร์จึงไม่ได้เลิกถอน เป็นแต่ความนับถือนั้นอ่อนไป ตกอยู่ในทำไว้ดีกว่าไม่ทำ ไม่เสียหายอันใดนัก
            แต่การพิธั้งปวงนั้นก็ย่อมเลือกฟั้นแต่การสุจริตในไตรทวารไม่รับลัทธิ ซึ่งเป็นการทุจริตของพวก
พรามหณ์ฮินดูบางพวก ซึ่งมีลัทธิร้ายกาจ เช่น ฆ่าสัตว์บูชายัญเป็นต้น มาถือเป็นธรรมเนียมบ้านเมืองให้เป็นการขัดขวางต่อพระพุทธศาสนา และการพระราชพิธีอันใดซึ่งมีแต่พิธีพราหมณ์อย่างเดียว ก็ย่อมเพิ่มเติมการพระราชกุศลซึ่งเป็นการทานมัย ศีลมัย ภาวนามัย เจือปนเข้าในพระราชพิธีนั้นยกเป็นต้นเหตุ การบูชาเซ่นสรวงเทพยดาพระอิศรว พระนารายณ์ เป็นต้น เปลี่ยนลงไปเป็นปลายเหตุทำไปตามเคย ตกอยู่ในเคยทำมาแล้วก็ทำดีกว่าไม่ทำ และการที่ทำนั้นก็ไม่เป็นการมีโทษอันใด และไม่เปลืองเบี้ยหอยเงินทองอันใดมากนัก ซึ่งกล่าวมาทั้งปวงนั้นทำสำหรับประโยชน์อันใด และเพื่อว่าผู้มีความสงสัย ว่าพระเจ้าแผ่นดินและราษฎรก็ถือพระพุทธศาสนา เหตุใดจึงทำพิธีตามลัทธิไสยศาสตร์อยู่ความดำริของท่านผู้ปกครองแผ่นดินมาแต่ก่อนคิดเห็นการดังเช่นกล่าวมานี้แล จึงยังได้ทำการพระราชพิธีทั้งปวงซึ่งเป็นการสำหรับพระนครสืบมา
            ก็แลพระราชพิธีที่มีมาในพระราชกำหนดกฎมนเทียรบาลซึ่งได้ตั้งขึ้นแต่แรกสร้างกรุงทวาราวดีศรีอยุธยาโบราณ แสดงพระราชพิธีประจำเดือน ๑๒ เดือนไว้ ว่าเป็นการซึ่งพระเจ้าแผ่นดินได้ทรงทำว่าเป็นการเป็นมงคลสำหรับพระนครทุกปีมิได้ขาดนั้น คือ
เดือนห้า             การพระราชพิธีเผด็จศึก ลดแอกออกสนาม
เดือนหก            พิธีไพศาขย์ จรดพระนังคัล
เดือนเจ็ด            ทูลน้ำล้างพระบาท
เดือนแปด          เข้าพรรษา
เดือนเก้า            ตุลาภาร
เดือนสิบ            ภัทรบทพิธีสารท
เดือนสิบสอง      อาศยุชยแข่งเรือ
เดือนอ้าย           ไล่เรือ เถลิงพิธีตรียัมพวาย
เดือนยี่               การพิธีบุษยาภิเษก เฉวียนพระโคกินเลี้ยง
เดือนสาม           การพิธีธานยเทาะห์
เดือนสี่              การพิธีสัมพัจฉรฉินท์
การพพระราชพิธีที่กล่าวมา ๑๒
อย่างนี้ คงได้ทำอยู่ที่กรุงเทพฯ นี้แต่เดือนหา เดือนหก เดือนสิบสอง เดือนสี่ แต่พิธีเดือนอ้ายเปลี่ยนมาเป็นเดือนยี่ ตามที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า เปลี่ยนมาแต่กรุงเก่าแล้ว ด้วยเหตุว่าเดือนอ้ายพึ่งเป็นเวลาน้ำลด ถนนหนทางเป็นน้ำเป็นโคลนทั่วไป ย้ายมาเดือนยี่พอให้ถนนแห้ง แต่พระราชพิธีเดือนเจ็ด เดือนเก้า เดือนสิบเอ็ด เดือนยี่ ที่เปลี่ยนขึ้นไปเป็นเดือนอ้าย และพิธีเดือนสามนั้นตำราสูญเสีย ไม่ได้ทำที่กรุงเทพฯ ถึงที่กรุงเก่าก็ทำบ้างเว้นบ้าง ไม่เป็นการเสมอทุกปีตลอดไป แต่พิธีเดือนแปดนั้นเป็นการส่วนการพระราชกุศลในพระพุทธศาสนา เห็นจะเป็นส่วนเกิดขึ้นใหม่เมื่อถือพระพุทธสานา แต่พิธีพราหมณ์เดิมนั้นสาบสูญไม่ได้เค้าเงื่อนเลย ถึงพิธีที่ว่าสูญเสียไม่ได้ทำในกรุงเทพฯ นี้ ก็ได้เค้าเงื่อนทุกๆ พิธี เว้นแต่เดือนแปด หรือชะรอยจะเป็นพิธีซึ่งไม่เป็นการสุจริตในไตรทวารอย่างหนึ่งอย่างใดไม่สมควรแก่ผู้ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาจะทำ จึงได้ยกเลิกเสียตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดินถือพระพุทธศาสนามา เปลี่ยนเป็นพิธีตามพุทธศาสน์จึงได้สูญไป ที่ว่านี้เป็นแต่การคาดคะเน ส่วนการพระราชพิธีที่กรุงเทพฯ นี้คงตามอย่างเก่าแต่เดือนห้า เดือนหก เดือนสิบ เดือนสิบสอง เดือนยี่ เดือนสี่ เท่านั้นก็ดี ยังมีพระราชพิธีที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมขึ้นใหม่ จนเกือบจะครบสิบสองเดือนเหมือนของเก่า ซึ่งคิดจะกล่าวต่อไปในเบื้องหน้านี้
การซึ่งคิดว่าจะเรียบเรียงพระราชพิธีสอบสองเดือน ลงในหนังสือวชิรญาณครั้งนี้ ด้วยเห็นว่าคำโคลงพระราชพิธีทวาทศมาศ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระบำราบ ปรปักษ์ ทรงแต่งขึ้นไว้ กรรมสัมปาทิกปีกลายนี้ ได้นำมาลงไว้ในหนังสือวชิรญาณเกือบจะตลอดอยู่แล้ว แต่คำโคลงนั้นท่านก็ทรงไม่ทันจดครบสิบสองเดือน และในสำเนาความนั้นว่าความละเอียดทั่วไปจนการนักขัตฤกษ์ ซึ่งเป็นส่วนของราษฎร ข้อความที่ว่าพิศดารมากกว่าตัวโคลงที่จะทำ จึงต้องประจุถ้อยคำลงให้แน่น บางทีผู้ซึ่งไม่สู้สันทัดในการกาพย์ โคลง ก็อ่านเข้าใจ และในครั้งนี้ได้คิดที่จะช่วยกันแต่ง เรียบเรียงข้อความในความประพฤติของราษฎรประชาชนในกรุงสยาม ซึ่งได้เล่นการนักขัตฤกษ์ตามฤดูปีเดือน เพื่อจะให้เป็นประเพณีบ้านเมมืองอยู่ในบัดนี้ หรือในชั้นพวกเราทุกวันนี้ที่ยังไม่ได้ทราบ ได้เห็นการประพฤติทั่วไปของชนทั้งปวงก็จะได้ทราบ เหมือนอย่างช่วยกันสืบสานมาเล่าสู่กันฟัง ส่วนในการพระราชพิธีประพฤติเป็นไปอยู่ในราชการนี้ก็เป็นข้อสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเวลาประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการพร้อมกันคราวหนึ่ง ครั้นจะรวบรวมลงเป็นเรื่องเดียวกันกับการนักขัตฤกษ์ของราษฎร ก็จะเป็นความยืดยาวปะปนฟั่นเฝือกันไป จึงได้คิดแยกออกไว้เสียต่างหาก คิดกำหนดแบ่งข้อความเป็น ๑๒ ส่วน ส่วนละเดือน กำหนดจะให้ได้ออกในวันสินเดือนครั้งหนึ่งไปจนตลอดปี แต่เดือนหนึ่งจะมากบ้างน้อยบ้างตามการที่มีมากและน้อย หวังใจว่าคงจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ซึ่งจะใคร่ทราบเวลาประชุมราชการได้ ตามสมควรแก่เรื่องราวซึ่งนับว่าเป็นแต่พระราชพิธี ดังนี้





การสื่อสารของมนุษย์

การสื่อสารของมนุษย์
ภาษาคือสิ่งที่มนุษย์ใช้ในการสื่อสารซึ่งกันและกัน    ทำให้มนุษย์สามารถเข้าใจความหมาย ถ่ายทอดความคิด ประสบการณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ การสื่อสารด้วยภาษาของมนุษย์ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่มนุษย์สร้างขึ้นมาด้วยจุดประสงค์แตกต่างกัน  ภาษาที่มนุษย์มีหลายรูปแบบทั้งด้านการใช้เสียง  ภาพ  ท่าทาง สีหน้า สายตา  ตัวหนังสือ       และรูปแบบอื่นๆ  ซึ่งในบางครั้งอาจจะเกิดขึ้น   โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ได้   แต่สิ่งสำคัญคือหากมนุษย์ไม่เรียนรู้หรือมีประสบการณ์ในการใช้ภาษาแล้วก็อาจทำให้เกิดความผิดพลาดเสียหายได้

          นอกจากภาษาที่มนุษย์ใช้ในการสื่อสารความหายตามปกติแล้ว มนุษย์ยังได้สร้างภาษาเฉพาะขึ้นมาเพื่อ ใช้สื่อสารตามวัตถุประสงค์ของตนเองในอีกหลายลักษณะ เช่น ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารมวลชน  การโฆษณา  การประชาสัมพันธ์   ภาษาทางการฑูต  ภาษาราชการ  ภาษาทางการแพทย์   ภาษาทางวิชาการ   ภาษาวัยรุ่น  ภาษาในวงการสงฆ์ ฯลฯ  นอกจากนั้นยังมีภาษาที่ใช้ในกรณีพิเศษอื่นๆ อีกเช่น  ภาษาของคนหูหนวก  ภาษาของคนตาบอด   ภาษาดนตรี  การศึกษาเพื่อให้เข้าใจความหมายของภาษาเหล่านี้    เพื่อประโยชน์ในการสื่อสารของมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง

          ตามธรรมชาติแล้ว มนุษย์ไม่มีภาษาเพื่อใช้ในการสื่อสารระหว่างกัน เหมือนกับสัตว์อื่นๆ แต่เมื่อมีความจำเป็นต้องมาอยู่ร่วมกันเนื่องจากความต้องการการอยู่รอดของชีวิต ซึ่งต้องคิดวิธีการที่จะสามารถสื่อความหมายระหว่างกัน มนุษย์จำต้องคิดสร้างภาษาเพื่อสื่อสารความคิดความต้องการและประสบการณ์ของภาษาให้ผู้อื่นได้รับรู้  ซึ่งก็ทำให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่าง  เพราะมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน  เนื่องจากภาษาเป็นสิ่งที่ไม่ได้ขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้นมาตามจุดประสงค์ของตนเอง  ดังนั้นเพื่อที่ทำให้สามารถเข้าใจความหมายได้ร่วมกัน มนุษย์จึงมีความจำเป็นในการต้องเรียนรู้ต้องมีทักษะและมีประสบการณ์ในการใช้ภาษาต่างๆ เพื่อให้เกิดการรับรู้ร่วมกันได้  หากไม่ได้มีการเรียนรู้แล้ว  โอกาสที่จะเข้าใจความหมายร่วมกันก็ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ จะเห็นว่าลักษณะภาษาของมนุษย์ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ได้รับการเรียนรู้หรือฝึกหัด จะเป็นการสื่อความหมายเฉพาะแต่อารมณ์ที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้สื่อความหมายอื่นใดๆ เช่น ความคิดเห็น หรือข้อมูลอื่นๆ

          ดังนั้นหากการสื่อสารที่ออกมาตามธรรมชาติของมนุษย์จะไม่ผ่านการกลั่นกรอกใดๆ ไม่สามารถสื่อสาร ความซับซ้อนของการสื่อสารอื่นได้ เช่น หัวเราะเมื่อพอใจ  ร้องไห้เมื่อเสียใจ  เบิกตาโตหรืออุทานเมื่อตกใจ เป็นต้น

          สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่การสื่อสารที่ซับซ้อนของมนุษย์เป็นแค่ภาษาที่แสดงถึงความรู้สึกตามธรรมชาติเท่านั้น ไม่มีการสร้างขึ้นมา  เพื่อใช้ในการสนองจุดประสงค์อื่นใดภาษาที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้นมีขั้นตอนการพัฒนาของตนเอง  จากภาษาที่เรียบง่าย   ไม่มีจุดประสงค์อย่างอื่นนอกจากให้ข้อมูลรายละเอียด ไปสู่การถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก และสร้างข้อมูลเพื่อให้เกิดการคล้อยตาม ไปจนถึงภาษาที่มีลักษณะเฉพาะอื่นๆ
1.    ภาษาที่ใช้ในการบอกเล่าเรื่องราวรายละเอียด
2.    ภาษาที่ใช้ในการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก
3.    ภาษาที่ใช้ในการชัดจูงใจให้เกิดความคล้อยตาม
4.    ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารโดยเพิ่มเติมศิลปะหลายรูปแบบ

การสื่อสารความหมายของมนุษย์มีจุดประสงค์สำคัญคือ การสร้างสัมพันธ์ภาพในระหว่างกัน
ของมนุษย์  ทั้งนี้เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมีส่วนเกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน  และการที่มนุษย์สามารถสร้างสัมพันธ์ภาพระหว่างกันขึ้นมาได้  ก็เนื่องจากเหตุผลที่มนุษย์มีความสามารถในการสื่อสารนั่นเอง

                   ความสามารถในการสื่อสารของมนุษย์เป็นสิ่งที่มีขึ้นของการพัฒนาจากง่ายไปหายาก ไปสู่สิ่งที่มีความซับซ้อน  เพื่อสนองจุดประสงค์ที่มีความหลากหลาย  แต่เป็นสิ่งที่สามารถฝึกฝนทักษะได้  เป็นสิ่งที่มนุษย์มีความจำเป็นต้องเรียนรู้และเรียกใช้ให้ถูกต้อง  การสื่อสารของมนุษย์โดยผ่านทางภาษาเสียง(วัจนะภาษา) และภาษาที่ไม่ออกเสียง (อวัจนะภาษา) เป็นการนำเอาข้อเท็จจริง  ความคิดเห็น  ความรู้สึก  ประสบการณ์ของตนเองที่มีอยู่มาอาศัยช่องทางในการส่งออกจนทำให้ผู้อื่นสามารถรู้ความหมายได้ใกล้เคียงกับผู้ส่งสาร

                   เราอาจกล่าวได้ว่า ภาษาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ และการถ่ายทอดสืบเนื่องกันมาของมนุษย์นั่นเอง  ประสิทธิภาพในการใช้ภาษาของมนุษย์ขึ้นอยู่กับทักษะของคนทั้ง 2  ฝ่าย  คือ  ทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสาร  หากมีทักษะในการสื่อสารใกล้เคียงกัน  การเข้าใจความหมายก็มีคุณภาพขึ้นตามไปด้วย


ตอนที่ 2  รูปแบบที่ใช้ในการสื่อสาร

                   การสื่อสารของมนุษย์นั้นมีหลายรูปแบบ  แต่ละประเภทมีลักษณะที่แตกต่างกันไป  การที่จะสื่อสารได้อย่างมีคุณภาพจึงมีความจำเป็นต้องเรียนรู้ถึงลักษณะเฉพาะของการสื่อสารแต่ละประเภทด้วย

                   รูปแบบการสื่อสารต่างๆ ที่จะแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบได้ดังนี้
1.    การสื่อสารส่วนบุคคล (Intrapersonal Commutation)
2.    การสื่อสารระหว่างบุคคล (Interpersonal Commutation)
3.    การสื่อสารมวลชน (Mass Communication)




การสื่อสารส่วนบุคคล (Intrapersonal Communication)

                   เป็นการสื่อสารที่เกิดขึ้นและจบลงในตัวคนเดียว  เป็นสำนวนภาษาการสื่อสารที่คิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการสื่อสารทุกประเภท  ทำให้มนุษย์สามารถเรียนรู้จักตนเอง และนำไปใช้ในการพัฒนาทักษะ เพื่อสื่อสารกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี

การสื่อสารระหว่างบุคคล (Interpersonal Communication)

                   เป็นการสื่อสารที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป  ลักษณะพิเศษของการสื่อสารแบบนี้คือ มีการเผชิญหน้ากันในระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร  ทำให้การสื่อสารสามารถพัฒนาต่อไปได้  เพราะสามารถแก้ไขได้ในทันทีทันใดหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น   เป็นการสื่อสารที่สมบูรณ์เนื่องจากครบวงจรมีปฏิกิริยาโต้ตอบเกิดขึ้นในการสื่อสาร  ทำให้ผู้ส่งสารรู้ว่าผู้รับสารเข้าใจในสารที่ส่งไปหรือไม่    ถือว่าเป็นการสื่อสารที่มีคุณภาพสมบูรณ์ที่สุด มีประสิทธิภาพมากที่สุด ในกระบวนการสื่อสารทั้งหมด การสื่อสารประเภทนี้แบ่งเป็น 3 ลักษณะใหญ่ๆ ด้วยกันคือ

1.    การสื่อสารแบบพบปะสนทนาไม่เป็นทางการ (person to person)
ไม่มีรูปแบบบังคับเป็นการพูดคุยกันธรรมดาในเรื่องที่พูดไป เช่น การสนทนาพูดคุยที่ใช้
ในชีวิตประจำวัน

2.    การสื่อสารกลุ่มย่อย (small group communication)
เป็นการสื่อสารที่มีรูปแบบบังคับว่าจะต้องเป็นการพูดสนทนาระหว่างบุคคล 3 คนขึ้นไป
มาพูดคุยกันในรูปแบบของการปรึกษาหารือ เพื่อจุดประสงค์เดียวกัน  การประชุมนี้อาจจะเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการก็ได้  แต่ต้องมีการกำหนดจุดประสงค์ เพื่อบรรลุจุดหมายร่วมกัน อาจมีการจัดตั้งหัวหน้ากลุ่มอย่างเป็นทางการหรือไม่ก็ได้  แต่ผลสรุปที่ออกมาจะเป็นสิ่งที่ทั้งกลุ่มจะยอมรับ  และปฏิบัติตาม  ลักษณะของการรวมกลุ่มและ  ปฏิกริยาที่เกิดขึ้นในกลุ่ม รวมทั้งบรรยากาศของการรวมกลุ่ม จะทำให้เราสามารถทราบได้ว่า การรวมกลุ่มในครั้งนี้ประสบความสำเร็จหรือไม่  รวมทั้งผลสรุปที่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มนี้จะใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ เพราะหากบรรยากาศในการรวมกลุ่มมีลักษณะไม่น่าพังประสงค์  เช่น  ไม่มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น  สมาชิกไม่มีความรู้สึกที่จะมีส่วนร่วมในการรวมกลุ่มเช่นนี้ ผลสรุปนั้นอาจจะไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้  เพราะไม่ได้เกิดขึ้นจากการระดมความคิดของกลุ่มจริงๆ การสื่อสารประเภทนี้เหมาะสำหรับแก้ไขปัญหา  หรือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อการทำกิจกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดร่วมกัน เป็นการสื่อสารที่มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน


3.    การสื่อสารกลุ่มใหญ่ (Large Group Communication) หรือในบางครั้งก็เรียกว่า  การพูด
ในที่สาธารณะชน (Public Speaking)
                             เนื่องจากเป็นลักษณะของการสื่อสารที่มีลักษณะของการพูดต่อหน้าคนจำนวนมาก  ลักษณะของการสื่อสารแบบนี้คือ  การอภิปราย (Dissuscion)  การบรรยาย (Lecture)  หรือการปาฐกถา เป็นต้น  ผู้ส่งสารจะเป็นผู้ที่รับผิดชอบกระบวนการสื่อสาร  โดยจะเป็นผู้ควบคุมให้กระบวนการการสื่อสารดำเนินไปในทิศทางต่างๆ
                             สารที่ใช้ในการสื่อสารได้ถูกเตรียมพร้อมเป็นอย่างดีเพื่อการส่งออก  ซึ่งจะมีลักษณะเดียวกับการสื่อสารมวลชนที่สารได้มีการเตรียมพร้อมไว้ก่อน  แต่ความแตกต่างจะอยู่ตรงที่  ถ้าหากเป็นการสื่อสารกลุ่มใหญ่  จะมีโอกาสพัฒนากระบวนการสื่อสารให้สอดคล้องกับบรรยากาศ  และผู้รับสารได้  โดยไม่เปลี่ยนจุดประสงค์  ทำให้การสื่อสารมีความเหมาะสม และ สามารถประสบผลสำเร็จได้มากขึ้น  ในขณะที่สื่อสารมวลชนไม่สามารถปรับเปลี่ยนการสื่อสารได้เลย  การสื่อสารประเภทนี้จะเน้นเรื่องของบรรยากาศ  สภาพแวดล้อม  และการมีอารมณ์ของกลุ่มผู้รับสารเป็นสำคัญ
                             ในการสื่อสารประเภทนี้ ผู้ส่งสารต้องมีความสามารถในการควบคุมทิศทางของกระบวนการสื่อสารให้เป็นไปตามที่ต้องการ  ซึ่งแตกต่างจากการสื่อสารกลุ่มย่อย เพราะจะมีลักษณะของการสื่อสารแบบทุกคน  ไม่ว่าจะเป็นผู้ส่งสาร หรือผู้รับสาร จะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน บรรยากาศซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญของการสื่อสารแบบนี้  เพราะสามารถทำให้ผู้รับสารเกิดความคล้อยตามได้ง่าย


การสื่อสารมวลชน  (Mass Communication)

                    การสื่อสารแบบนี้ทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสาร ไม่มีโอกาสเผชิญหน้ากัน  จึงเป็นการสื่อสารผ่านอุปกรณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น  วิทยุ  โทรทัศน์  อินเทอร์เน็ต  และสิ่งพิมพ์  การจัดเตรียมสารเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ก่อนส่งสาร  ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่ง  เพราะเมื่อส่งไปแล้วจะไม่มีการปรับเปลี่ยนในระหว่างที่ทำการสื่อสารอยู่  หากจะปรับเปลี่ยนจะทำภายหลังการสื่อสาร  เป็นการสื่อสารที่ไม่คาดหมายปฏิกริยาโต้ตอบ  โดยเฉพาะปฎิกริยาโต้ตอบในทันทีทันใด แบบที่เกิดขึ้นกับการสื่อสารระหว่างบุคคล  เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย  อีกสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ การสื่อสารมวลชน  ไม่สามารถควบคุมผู้รับสารได้  เนื่องจากสาเหตุหลายประการ เช่น

                   1.  ไม่สามารถรับรู้ลักษณะที่แน่นอนของผู้รับสารว่า เป็นใคร มีความสนใจแบบไหน มีความรู้ หรือมีการศึกษาระดับใด  มีจำนวนผู้รับสารเท่าใด  ดังนั้นการเตรียมสารเพื่อส่งออก  จึงอาจไม่มีความเหมาะสม แตกต่างจากการสื่อสารแบบกลุ่มใหญ่  ที่ผู้รับสารปรากฏตัวให้เห็นว่าเป็นใครบ้าง และหัวข้อที่ส่งสารก็เป็นที่สนใจของผู้รับสารอยู่แล้ว ซึ่งได้มารวมตัวกันเพื่อรับสาร  แต่การสื่อสารมวลชนนั้น  ความสนใจของผู้รับสารอาจมีความแตกต่างกันมาก  โอกาสจะส่งสารที่ไม่เหมาะสมแก่ผู้รับสารจึงมีความเป็นไปได้สูง
         
                   2.  บรรยากาศของการรับสารของผู้รับสารแตกต่างกัน  ดังนั้น โอกาสที่จะรับสารได้ความหมาย หรือได้คุณภาพเหมือนกันจึงมีโอกาสเป็นไปได้น้อย  แตกต่างจากการรับสารของการสื่อสารกลุ่มใหญ่ที่ทุกคนอยู่ในบรรยากาศเดียวกัน     การสร้างอารมณ์ร่วมให้เกิดขึ้นจึงง่ายกว่าการกระจายกันอยู่    เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์แล้ว สามารถถ่ายทอดความรู้สึกซึ่งกันและกันได้

                   3.  ความแตกต่างกัน  ในอุปกรณ์ที่ใช้ในการสื่อสาร  อาจทำให้คุณภาพในการสื่อสารเพิ่มขึ้น  หรือลดลงก็ได้

                   การสื่อสารมวลชนมีข้อจำกัดหลายประการ ดังตัวอย่างที่ยกให้เห็น ซึ่งเป็นการสื่อสารที่ไม่ได้มุ่งที่คุณภาพ    แต่มุ่งไปที่ปริมาณ  มุ่งจะขยายอาณาเขตการรับรู้มากกว่าที่จะหวังผลสัมฤทธิ์เต็มที่   เป็นสิ่งที่ผู้สื่อสารต้องเข้าใจถึงลักษณะของการสื่อสารแต่ละประเภท เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่


ตอนที่ 3  องค์ประกอบที่ทำให้การสื่อสารประสบผลสำเร็จ

                   องค์ประกอบของการสื่อสารของมนุษย์  มีลักษณะที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบของการสื่อสารของมนุษย์ อย่างที่กล่าวมาตอนแรกว่า  การสื่อสารของมนุษย์เกิดขึ้นจากการที่มนุษย์คิดวิธีการสื่อสารขึ้นมา  ดังนั้นการศึกษาเรื่ององค์ประกอบในการสื่อสารจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้การสื่อสารประสบความสำเร็จ  องค์ประกอบที่ง่ายที่สุดในการสื่อสารของมนุษย์เมื่อมีการสื่อสารเกิดขึ้น  ประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ประการ คือ

1.    ผู้ส่งสาร
2.    สาร
3.    ผู้รับสาร

การเริ่มต้นของการสื่อสารของมนุษย์จะเริ่มด้วยความปรารถนาของผู้ส่งสาร  ที่ต้องการจะส่ง
ข้อมูลนี้ไปยังบุคคลอื่น    ข้อมูลนี้อาจเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวของเขาเองแต่เดิม    หรืออาจเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นในขณะนั้นก็ได้ นั่นก็คือ  สารที่มีอยู่ในตัวของเขานั่นเอง  แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพียงแค่ความคิดที่มีอยู่ในตัวของเขาเท่านั้น  แต่หากจะถูกส่งต่อออกไปเพื่อให้เกิดความเข้าใจแล้ว  จำเป็นต้องมีการแปรความคิดเหล่านั้นออกเป็นสัญญาณ เช่น เสียง ภาพ หรือสิ่งอื่นๆ  เพื่อให้เกิดความเข้าใจได้  ซึ่งจะสามารถสื่อข้อมูลที่มีอยู่  ทั้งนี้โดยผ่านทางช่องทางต่างๆ ที่เรียกว่า ประสาทสัมผัสทั้ง 5

                   ประสาทสัมผัสทั้ง 5  คือ การมองเห็น  การได้ยิน  การได้กลิ่น  การรู้รส และการสัมผัส จากนั้นผู้รับสารก็จะได้รับสัญญาณที่ผู้ส่งสารส่งมา  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการสื่อสารครั้งนี้จะได้ผลตามที่ผู้ส่งสารต้องการ  เนื่องจากผู้รับสารอาจจะไม่เข้าใจสารที่ได้รับมา  ตามจุดประสงค์ของผู้ส่งสารก็ได้ เนื่องจากสิ่งที่เขามีอยู่ในตัวเองคือ  ประสบการณ์ หรือภูมิหลังของเขา  จะเป็นตัวแปลความหมายของสัญญาณที่เขาได้รับ เช่นเดียวกับที่ผู้ส่งสารเองก็มีประสบการณ์และภูมิหลังอยู่ประจำตัวของเขาเช่นเดียวกัน  ดังนั้น ในการสื่อสารระหว่างบุคคลแล้วโอกาสที่คน 2 คน  จะเข้าใจสิ่งต่างๆ  ได้ตามความต้องการของแต่ละฝ่ายนั้น  ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ หลายประการ  นั่นก็คือ

1.    จุดประสงค์ของผู้ส่งสาร
2.    สัญญาณที่ใช้ในการแปรสารของผู้ส่งสาร
3.    ประสบการณ์ของผู้ส่งสาร
4.    ช่องทางในการสื่อสาร
5.    การแปลสารของผู้รับสารก่อนที่จะแปรเป็นสัญญาณเข้าไปสู่ผู้รับสาร
6.    ประสบการณ์ของผู้รับสาร
7.    สภาพแวดล้อมในขณะนั้น

จากองค์ประกอบที่เราเห็นนี้      เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในการสื่อสารระหว่างบุคคล     โอกาสที่จะเกิด
ความไม่เข้าใจกัน  หรือ  ความผิดพลาดต่างๆ   สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา     เช่น   เรื่องของประสบการณ์   ภูมิหลังของผู้ส่งสาร และของผู้รับสาร  หากมีความแตกต่างกันก็อาจทำให้การแปลความหมายแตกต่างกันได้

                   การเลือกใช้ช่องทางหรือการเลือกใช้สัญญาณ   ถ้าเกิดการผิดพลาดก็ทำให้การสื่อความหมายผิดพลาดได้  หากไม่ใช้ความระมัดระวังให้มากพอ  นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความรู้สึก  ความอคติที่มีอยู่  หรือแม้แต่สภาพแวดล้อมก็มีบทบาทสำคัญในการสร้างความหมายผิดพลาดได้เช่นเดียวกัน     เช่นคนที่รู้สึกไม่ชอบหน้ากัน  การแปลความหายของสารก็จะแตกต่างจากคนที่ชอบพอกันอยู่  หรือในสภาพแวดล้อมอย่างหนึ่ง  เช่น  ถ้ากำลังมีความสุขเมื่อฟังเพลงเพลงหนึ่งอาจรู้สึกชอบ  แต่ถ้ากำลังมีความทุกข์  เพลงๆ เดียวกันก็อาจฟังแล้ว ได้อารมณ์ที่แตกต่างกันได้

                   การสื่อสารที่มีคุณภาพ  จะสามารถวัดประเมินผล  และสามารถพัฒนาสารต่อไปได้  มีองค์ประกอบในการสื่อสารที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่า   ปฏิกริยาโต้ตอบ     หรือ   Feedblack   การเกิดปฏิกริยาโต้ตอบนี้ สามารถเกิดได้ 2 ลักษณะคือ
1.    Internal Feedblack
2.    External Feedblack

1.    Internal Feedblack
เป็นปฏิกริยาโต้ตอบที่เกิดขึ้นกับผู้รับสารเมื่อได้รับสาร  แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วไม่ได้ส่งกลับ
ออกไปภายนอกให้กับผู้ส่งสาร  ปฏิกริยาโต้ตอบเช่นนี้ไม่มีผลต่อการพัฒนาการสื่อสาร  เพราะผู้ส่งสารจะไม่ทราบว่า  ผู้รับสารได้รับแล้วเข้าใจหรือไม่แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีผลต่อความคิด  ความเข้าใจและความรู้สึกของผู้รับสาร  ถึงแม้ว่าจะไม่ได้แสดงปฏิกริยาโต้ตอบออกมาก็ตาม

2.    External Feedblack
เป็นปฏิกริยาโต้ตอบที่เกิดขึ้นกับผู้รับสารเมื่อได้รับสาร  และผู้รับสารส่งออกไปภายนอก
ให้ผู้ส่งสารได้ทราบว่า เขามีความคิด  ความเข้าใจ  หรือมีอารมณ์ความรู้สึกอย่างไร  ปฏิกริยาโต้ตอบเหล่านี้จะมีผลต่อการปรับปรุงหรือพัฒนาการสื่อสารต่อไป External Feedblack จึงเป็นสิ่งที่ควรให้เกิดขึ้น เพราะสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาการสื่อสารได้

                   จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ว่า Internal Feedblack จะเป็นสิ่งที่ไม่ช่วยในการพัฒนาการสื่อสาร  และไม่ควรจะเกิดขึ้นในการสื่อสารก็ตาม  ในบางครั้งในบางสถานการณ์  การใช้  Internal Feedblack อาจจะมีความเหมาะสมการใช้พัฒนาการสื่อสาร   External Feedblack ก็ได้   เพราะอาจให้ผลในทางลบมากกว่าทางบวก  อย่างไรก็ตาม การส่ง Feedblack กลับมายังผู้ส่งสารก็จำเป็นต้องใช้ทักษะในการสื่อสาร เพื่อให้การสื่อสารบรรลุเป้าหมายที่เราต้องการ  เพราะหากไม่มีการฝึกฝน  การเรียนรู้  การส่ง Feedblack ที่เหมาะสมกลับมา  ผลเสียอาจเกิดขึ้น  และอาจมีผลกระทบต่อการสื่อสารได้เป็นอย่างมาก

                   การเกิด Feedblack ที่มีลักษณะเป็น External Feedblack นอกจากจะทำให้ผู้ส่งสารได้นำไปใช้ในการพัฒนาสารแล้ว  ยังเป็นสิ่งเร้าให้กระบวนการสื่อสารดำเนินต่อไป  หรือหยุดชะงักลงก็ได้  การเกิด Feedblack ที่มีผลต่อการเร้าให้กระบวนการสื่อสารดำเนินต่อไป  หรือหยุดชะงักลง  มีอยู่ 2 ลักษณะ คือ

1.    Positive Feedblack
เป็นปฏิกริยาโต้ตอบในทางบวก เห็นด้วย  สนับสนุน  ยอมรับเมื่อผู้ส่งสารได้รับปฏิกริยานี้
จะเกิดความรู้สึกอยากจะทำการสื่อสารต่อไป



2.    Negative Feedblack
เป็นปฏิกริยาโต้ตอบในทางลบ ไม่เห็นด้วย คัดค้านปฏิเสธเมื่อผู้ส่งสารได้รับปฏิกริยานี้ จะ
เกิดความรู้สึกไม่อยากจะทำการสื่อสารต่อไป

                   เมื่อพิจารณาดูแล้ว  จะเห็นว่า  ผู้ส่งสารจะเป็นผู้กำหนดสารช่องทางในการสื่อสาร  เพื่อไปกำหนดความหมายให้แก่ผู้รับสารก็ตาม     แต่ผู้รับสารเองก็มีอิทธิพลต่อผู้ส่งสาร   และกระบวนการสื่อสารอยู่ไม่น้อย  เพราะปฏิกริยาโต้ตอบที่เกิดขึ้นจากผู้รับสาร  ก็สามารถจะไปกำหนดผลในการสื่อสารได้เช่นเดียวกัน

                   ดังนั้นสำหรับการสื่อสารของมนุษย์แล้ว   ความสามารถและประสิทธิภาพของผู้ส่งสาร    และผู้รับสารต่างก็มีความสำคัญเท่าเทียมกัน    หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งคุณภาพไม่เท่าเทียมแล้ว    โอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดในการสื่อสารก็จะเกิดขึ้นได้เสมอ

                   การสื่อสารของมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะได้เลย  เพราะการสื่อสารของมนุษย์มีความซับซ้อน  และยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา  ไม่สามารถกำหนดผลที่แน่นอนได้ แต่หากได้มีการเตรียมการไว้เป็นอย่างดี  ก็สามารถที่จะคาดหมายได้ล่วงหน้าว่า  จะเกิดผลอย่างใดขึ้น จะยังสามารถจะปรับเปลี่ยนได้เกิดความเหมาะสม  และเกิดประสิทธิภาพได้มากขึ้นอีกด้วย  แต่ถ้าหากไม่มีการเรียนรู้ ฝึกฝนและพัฒนาทักษะแล้ว  โอกาสที่จะเกิดความล้มเหลวในการสื่อสารก็อาจเกิดขึ้นได้